Feature เห็ดนอกใจ

บู้ Slur

  • Writer: Gandit Panthong
  • Photographer: Nattanich Chanaritichai

“โลกของธุรกิจการแข่งขันมันสูง” คำนี้เป็นคำที่ผมคิดมาตลอดก่อนจะได้สัมภาษณ์ผู้ชายคนนี้ ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ครับว่า ทุกวันนี้มีธุรกิจเกิดขึ้นอย่างมากมาย บางรายก็สามารถยืนหยัดได้นาน บางรายก็ต้องล้มหายตายจากกันไป ครั้งนี้ผมมีนัดคุยกับ บู้-ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ หรือ บู้ มือเบสวง SLUR ที่หลาย ๆ คนรู้จักกันนั้นเอง เราจะไม่คุยกันในเรื่องของดนตรี แต่เราจะคุยกันในเรื่องธุรกิจล้วน ๆ ความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ของ Rompboy ที่เกิดขึ้น เขาวางแผนธุรกิจนี้ไว้อย่างไร พร้อมทั้งเรื่องราวของรองเท้าล็อตต่อไปที่หลายคนเฝ้ารอคอย คำตอบทุกอย่างเกี่ยวกับ Rompboy และชีวิตของบู้นอกเหนือจากการเป็นนักดนตรีอยู่ในบทสัมภาษณ์นี้หมดแล้ว

1

จุดเริ่มต้นธุรกิจ คือ การเปิดร้านขายถุงเท้า

ผมเคยทำธุรกิจถุงเท้าที่ชื่อ Bigfootsocks มาก่อนครับ จุดเริ่มต้นของมันเป็นความคันอย่างนึงของเราเองที่อยากจะทำร้านอะไรสักอย่างนึงที่เราชอบ ตอนเราไปประเทศพวกญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง หรือเกาหลี ประเทศพวกนี้เขาจะมีร้านถุงเท้าเต็มเลย เรารู้สึกว่าถุงเท้าในบ้านเราช่วงนั้นมันมีแต่แบบเรียบ ๆ หรือเป็นถุงเท้าลายคนแก่ไปเลย เราเลยอยากทำร้านนึงขึ้นมาที่มีแต่ถุงเท้าขายเพียงอย่างเดียวเลย เอาโมเดลต่างประเทศเข้ามาผสมอยู่ด้วยเลย ผมเลยขาย 3 คู่ 200 หรือ 300 บาทไปเลยมีให้เลือกหลาย ๆ เกรด ถุงเท้าร้านเราจะแตกต่างจากที่ตลาดเป็นอยู่ ช่วงแรกที่ทำเวิร์กมาก แต่พอทำไปช่วงนึงยอดขายมันตก เพราะมีโมเดลธุรกิจแบบนี้ออกมาเยอะมาก แล้วเขาขายตัดกำไรร้านเรา เอากำไรคู่ละ 5 บาทเอง อีกอย่างคือ เราไม่อยากหยุดนิ่งด้วยในการทำธุรกิจมันต้องเดินต่อไปข้างหน้า โดยที่คนอื่นตามเราไม่ได้ แนวคิดนี้เลยกลายมาเป็นร้าน Rompboy ในที่สุดครับ

เพราะความอยากส่วนตัวทำให้เกิดสินค้าแบรนด์ตัวเอง

ตอนแรกที่ทำไม่ได้หวังเรื่องเงิน ไม่ได้หวังเรื่องการจะเป็นพ่อค้าอะไรเลย ผมแค่รู้สึกว่า อยากจะหากางเกงขาสั้นใส่ ซึ่งกางเกงขาสั้นของบ้านเรามันไม่ค่อยถูกใจตัวผมเอง ทำให้มันเกิดช่องว่างตรงนี้ คือ เราอยากได้กางเกงสไตล์ Hunting พวกกางเกงที่มีกระเป๋าแปะรอบกางเกงอะ มันสามารถใส่ Ear Monitor เราจากกระเป๋าด้านหลังได้ ใส่ปิ๊กที่กระเป๋าหน้าได้ มันดูมีฟังก์ชันของมันดี แถมพอไปญี่ปุ่น เราก็ไปเจอกางเกงสไตล์ Hunting สวย ๆ เต็มไปหมด ก็เลยกลับมาทำเองดูแล้วตั้งชื่อเพจว่า Rompboy โดยเริ่มจากการขายของมือสองของเราก่อน เพราะของที่บ้านเยอะมาก แม่สั่งให้ระบายออกบ้าง จนถึงระยะนึงก็เลยลองทำกางเกงขายดู กางเกงขาสั้นเนี่ยล่ะ จำได้ว่าขายไม่ดีเลย โมเดลแรกของเราคือ ทำมาประมาณ 70 ตัว กว่าจะขายหมดใช้เวลา 3 – 4 เดือนเลย แต่ตอนที่ทำเนี่ยเพื่อน ๆ อยากได้กันเยอะ ก็มีให้ฟรีบ่อยมาก บางคนใส่ครั้งแรกติดใจเขาก็ใส่บ่อย ๆ หลังจากนั้นก็มีคนติดตามเยอะขึ้น จนเราโดนแบรนด์อื่น ๆ ก๊อปแล้วตัดราคาก็มี แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะเขาก๊อปยังไงก็ Material ไม่เท่ากับเราอยู่ดี แล้วอีกอย่างเราจะ Repro ยังไงเราก็ขายได้ Direction ของร้านมันเริ่มดีขึ้น ลูกค้าเริ่มมาทำให้โมเดลหลังๆ มาเริ่มขายหมดแบบ Sold out ก็มี เลยรู้สึกว่าโอเคจากที่ทำเล่น ๆ ตอนนั้นเราต้องทำจริง ๆ กับมันแล้ว

เวลาใครจะก๊อปปี้งานจากร้านเรา ใครจะตามก็ตามไปเถอะ เขาก็ได้แค่คอลเลกชันเก่าของเรา เพราะเราจะออกคอลเลกชันให้เขาตามไม่ทันอย่างแน่นอน

2

การทำธุรกิจแบบมวยวัดในแบบฉบับบู้ Slur

ไม่เคยศึกษามาก่อนเลยเรื่องการทำธุรกิจ แต่เท่าที่เราได้คุยกับพี่ซันนี่  (Marketing Manager ร้านกางเกงยีนส์ Pronto) เขาเหมือนเป็น Kidnapper ในสายธุรกิจเลย คือ เป็นคนที่ล้ำ จะอัพเดตธุรกิจตลอดเวลาว่าตอนนี้แบรนด์ไหนกำลังมา เทรนด์ของโลกจะเป็นอย่างไร อย่างตอนนี้มันคือยุคของการ Collaboration แบรนด์ทุกอย่างต้องมีความเป็นออริจินัลและชัดเจนมากขึ้น เพราะฉะนั้นพอตัดภาพกลับมาที่เราแล้ว เราเด็กมาก เรามวยวัดมาตลอดเลย แต่มันก็เหมือนได้ความรู้ไปเรื่อย ๆ นะ เหมือนเล่นดนตรีตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะเป็นยังไง แต่พอได้เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เราก็เล่นเป็น ธุรกิจก็เช่นกัน ทุกอย่างมันอยู่ที่การเรียนรู้ล้วน ๆ เราเห็นโลกธุรกิจเพิ่มขึ้นจากการที่เราศึกษาอะไรจากการไปรู้จักคนในสายนี้เยอะมาก

กางเกงยีนส์ขาสั้น คือ จุดเปลี่ยนของ Rompboy

คิดว่า กางเกงยีนส์ทรงนี้มันเป็นการจุดประกายของร้านมากกว่านะ มันเริ่มบูมมาตั้งแต่ล็อตแรกที่ทำแล้ว เราสังเกตได้ ยิ่งพอทำรอบสองออกมาอีกก็ดีใจแล้วที่มันยังคงทำได้ต่อไปเรื่อย ๆ ล็อตสองคือดีเลย์ไปหลายเดือนมาก พอเสร็จวางขายปรากฏว่า ขายได้เร็วมากจากที่กว่าจะขายหมดหลายเดือนเปลี่ยนเป็นขายหมดภายในไม่กี่วัน เหมือนตอนนั้นมีแสงส่องมาจากปลายอุโมงค์ ระยะประมาณ 2 กิโลเมตรเลย (หัวเราะ) จากนั้นเลยเริ่มคิดว่า เราควรเป็นพ่อค้าดีไหม วันนึงมันมียอดขายขนาดนี้เลยเหรอ ถ้าขายแบบนี้ต่อเนื่องทุกวันได้เป็นล้านเลยนะ รายได้ดีกว่าเป็นนักดนตรีอีก หลังจากนั้นมาก็เลยเริ่มคิดไปเรื่อย ๆ ว่าจะทำอะไรต่อ เพราะแบรนด์เราทำทุกอย่างอยู่แล้ว ทั้งกางเกง เสื้อผ้า ขายมาสักพักจนคิดว่า อะไรคือสิ่งที่ชอบสุด เราได้คำตอบว่า รองเท้า เราซื้อรองเท้าบ่อยมากเลยบอกกับแฟนว่า ทำรองเท้าดีกว่าถ้างั้น ซึ่งตอนที่คิดตอนนั้นเราไม่สนเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุนมันแพงแค่ไหน เราไม่รู้ รู้แค่ว่าอยากได้ต้องทำเลย มันจึงเกิดมาเป็นที่มาของรองเท้ายี่ห้อ Rompboy ครับ

3

สินค้า Rompboy ทุกชิ้นเปรียบเหมือนลูก

ถ้าเรียกแบบนั้นก็ได้ อย่างตอนรองเท้าที่ออกมาเป็นเซ็ตแรกเหมือนลูกเลยนะ ปกติเวลาเราทำเสื้อผ้าเราจะออกไม่เกินร้อยตัว เก่งสุดคือ 100 พอดีเป๊ะ แต่นี่ทำรองเท้าขั้นต่ำมันต้อง 500 คู่ ซึ่งมันเกินจากปกติมาเยอะมาก ถ้าเทียบกับกางเกงที่ออกมาแค่ 50 ตัว นี่ก็คือ 10 เท่าของมันเลยนะ แล้วเราจะทำยังไงให้มันขายหมด ตอนแรกก็คิดว่าขายให้ได้เท่าทุนก็พอ เหมือนทำวง Slur เราก็ทำก่อน ลุยเลย ไม่คิดอะไร ปรากฏเอาเข้าจริงคนเราตั้งเป้าสูงมาก มันก็ต้องทำอะไรเพื่อที่จะทำให้มันไม่เจ็บหรือว่าเอาตัวรอดให้ได้ก่อน ตอนนั้นขายกางเกงได้ 100 ตัวเราก็รู้ว่าเราทำได้แล้วล่ะ แต่ว่ารองเท้า 500 คู่ เราเทหมดหน้าตักแล้ว มันแพงมาก งบประมาณของมัน แล้วเราก็ทำทุกวิถีทาง ทำการโปรโมตทุกอย่าง เพื่อที่จะเอาทุนของเรากลับมาให้ได้ ปรากฏกว่าฟีดแบ็คมันไม่ใช่เลย จำได้ว่าล็อตแรกขาย 3 วันหมด พอล็อตสองเราทำซัก 800 คู่ คิดว่าประมาณอาทิตย์นึงก็หมดเลยโปรโมตเพิ่มอีกหน่อย ทำไปทำมาขายได้เร็วกว่าเดิมอีก (หัวเราะ)

รองเท้าล็อตสองของร้าน Rompboy ขายหมดโดยใช้เวลาในการขาย 1 นาที

4

ความรู้สึกของพ่อค้าในวันที่ขายรองเท้าล็อตสองหมดภายในเวลา 1 นาที
เวลาเที่ยงตรงของวันขายคุณทำอะไรอยู่

เวลานั้นเราคุยกับทางร้านค้าที่วางขายอยู่ ซึ่งเราไม่ยุ่งเรื่องตัวของระบบเลย เราจะให้พี่สาวเราทำหมด แฟนเราจะทำในส่วนการตอบลูกค้า แต่เราจะเป็นคนที่รับโทรศัพท์เกี่ยวกับปัญหาทางหน้าร้าน ค่อยถามว่าไปถึงไหนแล้วยอดขาย แล้วก็มี Worst case จริง ๆ แบบลูกค้าวีนไม่เข้าใจว่า ทำไมซื้อไม่ได้ ซื้อไม่ทัน ก็เลยโทรไปคุยให้ฟังว่า เหตุการณ์มันเป็นยังไง เราจะเป็นคนแก้ปัญหาทั้งหมดมากกว่าซึ่งก่อนที่จะเข้าช่วงการขายวันนั้นเป็นวันที่เครียดมาก จำได้ว่าไปทัวร์คอนเสิร์ตมากลับมาประมาณตี 4 พยายามอาบน้ำนอน แต่ก็นอนไม่หลับ เพราะมันเป็นโปรเจกต์ใหญ่มาก ลงทุนไปเยอะไง เราออกมาใส่บาตร ปั่นจักรยานรอพระอยู่ในซอยบ้าน คือ เวลาเราจะทำโปรเจกต์ใหญ่แบบนี้เราจะห่วงมากนะ แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากทำใจให้มันสบาย หลังจากใส่บาตรเราก็นั่งบรีฟทีมงาน 4 – 5 คน คนแพ็คของ คนตอบลูกค้าอีกประมาณ 3 คน ซึ่งตอนนั้นมันจะ 10 โมงเช้าแล้วเราก็บรีฟทีมงานไว้ว่า คนมันจะมาซื้อร้านเราเยอะมากเลยนะ รอดูละกัน ปรากฏว่า 11.58 ไลน์เด้งจนเครื่องค้างเลย จำได้ว่าดิสเพลย์เด้งจน 999+ เรากลัวลูกค้าไม่เชื่อก็เลยแคปหน้าจอให้เขาดูเลย ว่ามันต้องใช้เวลาจริง ๆ นะในการตอบเนี่ย แต่เราในฐานะคนทำก็สงสารลูกค้าหลายคนเหมือนกันนะ เวลาเขาทักมาใหม่ข้อความมันจะไปเด้งอยู่ข้างบนไงมันก็ทำให้เขาไม่ได้ของเหมือนกัน เลยอยากแนะนำว่าถ้าเอาชัวร์ ๆ ควรไป Carnival ไม่ก็ควรไปที่หน้าร้านดีกว่า มีโอกาสมากกว่า ตอนแรกที่ขายหมดเราก็งงนะว่ามันขนาดนี้เลยเหรอ เว่อร์ไปรึเปล่า ปกติเราดูแต่รองเท้า NMD ขายหมดเร็วมากก็ไม่คิดว่าวันนึงมันจะมีกระแส Rompboy Fever มา คนโทรศัพท์เข้ามาเยอะมาก มีไซส์ไหม ถ้าไปซื้อต้องไปกี่โมงไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบวันนั้นมาก่อนเลยถือว่าเป็นวันสำคัญของชีวิตเลยก็ว่าได้

Feedback หลัง Sold out ที่รุนแรง

มีโวยวายเยอะ เขาไม่เข้าใจร้านเราไง ลูกค้าใหม่เพียบแล้วก็โดนฟีดแบ็คเยอะ มีแม่ของเด็กคนนึงเข้ามาที่ร้าน มาไหว้ผมเลย แล้วบอกว่าขอรองเท้าให้ลูกชายเขาได้ไหม ลูกชายเขาไปต่อแถวอยู่ Carnival ตั้งแต่เช้า ซื้อออนไลน์ก็ไม่ทัน แล้วสุดท้ายโชคดีมากเลยลูกค้าอีกคนเอารองเท้ามาเปลี่ยน เพราะซื้อผิดไซส์ก็เลยได้ให้เขาพอดี เราก็ไม่คิดว่าทำออกมาแล้วมันจะขนาดนี้  การโปรโมตของ Rompboy มันคล้ายการออกซิงเกิล เพราะว่าเราพยายามทำให้มันน่าสนใจที่สุด คอนเทนต์มันต้องมีพลัง เราจะทำยังไงให้แคปชั่นมันน่าสนใจที่สุด บางทีก็คิดว่าตัวเองบ้ารึเปล่า ทำเพลงประกอบรองเท้าแล้วลงไปยอดคนดูก็น้อย ซึ่งจริงๆ เราลงทุนไปเยอะเหมือนกันกว่าจะออกมาเป็นวิดีโอได้ จ้างเด็กมาถ่ายสเก็ตช์ จ้างตัดต่อ จ้างพี่เย่ทำเพลงประกอบอีก เรารู้สึกว่าคนทั่วไปเขาไม่ได้รู้สึกเท่าไหร่หรอกว่า มันเป็นไลฟ์สไตล์ที่เท่ แต่ฟีดแบ็คจริง ๆ ส่วนใหญ่คือ การแจกรองเท้า พอรูปมันอิมแพ็คแล้วคนเห็นว่าสินค้าเราแตกต่าง ก็เลยแชร์กันจนกลายเป็นกระแส สิ่งที่เราได้จากมันคือ เราทำธุรกิจ เราพอมีประสบการณ์ คิดว่าปีหน้าคงมีแผนอะไรมัน ๆ เต็มไปหมด

ซ้อมซ้อมซ้อมและก็ซ้อม กลยุทธ์การซื้อรองเท้า Rompboy ให้ทันเวลา

เรายังคุยกับพี่สาวอยู่เลย ถ้าเราเป็นคนซื้อก็ไม่รู้จะได้หรือเปล่าเลย แต่เรารู้อยู่วิธีนึง คือ ต้องไปโหลดแอพพลิเคชัน นับเวลาถอยหลัง แล้วลองฝึกส่งให้เพื่อน ไปซ้อมมาเลย วิธีนี้ได้ผลชัวร์ ยกตัวอย่างเช่น ลองจับเวลาว่าเราจะส่งข้อความหาคนนี้ตอนเที่ยงตรง ต้องส่งตั้งแต่ตอนไหน ส่งด้วย 4G หรือ Wi-fi เร็วกว่ากัน เพราะว่าต่างจังหวัดบ่นกันยับเลย ประมาณ 20% บอกว่า เน็ตเขาห่วยกว่ากรุงเทพ ผมไม่เชื่อ ผมรู้สึกว่าตอนนี้เราเท่ากันหมดแล้ว Wi-fi ที่บ้านก็เลือกความเร็วได้ เพราะฉะนั้นของแบบนี้ต้องลองดูครับ

รองเท้า Rompboy ล็อตหน้าต่างจังหวัดจะได้ก่อน

ล็อตที่แล้วส่วนใหญ่จะเป็นคนกรุงเทพได้ก่อนหมดเลย เพราะฉะนั้นล็อตต่อไปที่กำลังจะถึง ขอบอกตรงนี้เลยว่า ต่างจังหวัดขายก่อนนะจ๊ะ โดยเราจะระบุว่ากรุงเทพและเขตปริมณฑลมาซื้อทีหลัง แต่รอบนี้หน้าร้านจะมีร้าน Beams เข้ามาด้วยครับ ถ้ากรุงเทพก็อยากให้มาซื้อหน้าร้านกันหรือว่าซื้อออนไลน์น่าจะดีกว่า ส่วนถ้าฟิตหน่อยก็ฝากเพื่อนต่างจังหวัดซื้อก็ได้จะได้ไม่งอแง ตอนนี้จ้างบริษัทจัดส่งเรียบร้อยแล้ว

คอนเฟิร์มรองเท้า Rompboy ล็อตหน้าจะมี 3 สี

รองเท้าจะมี 3 สี แต่ว่าจะมีข่าวดีก็คือ มีสีลิมิเต็ดกระเด็นมาอีกนิดนึง แต่ไม่บอกว่าสีอะไร ผมรู้แล้วว่าล็อตนี้ยอดจองมันเกิน ผมการันตีร้าน Beam ไปเลยว่าหมดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมงแน่นอน เพราะว่า ผมสรุปยอดไปเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังมีคนถามมาเรื่อย ๆ อยู่ เพราะฉะนั้น มันไม่พอแน่ ๆ คนก็เตรียมซื้อก็ฝึกส่งไลน์กันให้ดี แต่ผมก็ไม่รู้นะว่า การไปชี้โพรงให้กระรอก อาจจะทำให้มือถือผมระเบิดไปเลยก็ได้ (หัวเราะ)

5

บอกที่นี่ที่แรกเลยว่าวันที่ 9 เดือนกรกฎาคมนี้ มาซื้อรองเท้าใหม่ของร้านผมกันนะครับ ตอนนี้ให้เวลาไปซ้อมส่งไลน์มา ถึงเวลาแล้วเจอกัน

การโปรโมตรองเท้าอันสุดแสนจะจริงจัง นายแบบและนางแบบที่พวกคุณรู้จัก

ตอนนี้หน้าร้านเราเตรียมไว้หมดแล้ว เรื่องร้านขาย ส่วนมีแผนโปรโมตยังไง ก็ถ่ายแบบเรียบร้อยแล้ว บอกฟังใจซีนก่อนเลยว่าใช้ “นะ Polycat” เป็นนายแบบ เราคิดว่าเขาเหมาะกับการเป็นแบบเรามาก ๆ เพราะเป็นผู้ชายที่สเกลเล็ก แล้วยังดูมีความสนุกอยู่ โดยที่เขาโตแล้ว แต่ยังมีความเป็นบอยอยู่ นางแบบอีกคนนึงคือผู้หญิง “น้องเบลล์ ฮอร์โมน” คือเรามีความรู้สึกว่าน้องเบลล์เป็นคนที่แต่งตัวโอเค คิดว่าเขารสนิยมดี แล้วอีกอย่างคือ ผมพึ่งรู้ว่าน้องเขามาจองรองเท้าร้านผมด้วย เลยมี เบลล์ กับ นะ เป็นพรีเซนเตอร์ล่าสุดครับ

ความชอบของตนเอง คือ พื้นฐานสีรองเท้าร้าน Rompboy

เราต้องชอบก่อน แล้วดูว่าเราอินกับสีไหนที่สุด อย่างสีเหลืองเป็นสีที่เราชอบอยู่แล้ว เพราะเกิดวันจันทร์ ชอบเสื้อสีเหลือง ชอบใส่กางเกงยีนส์ ซึ่งรองเท้าที่เหมาะกับยีนส์ก็คือสีเหลืองหรือสีมัสตาร์ด อีกอย่างคือสีเหลืองเป็นสีที่คนเล่นรองเท้าเล่นกันอยู่แล้ว Converse ปี 70 ออกมามีสีน้ำเงิน สีม่วง สีชมพู สีเหลือง แต่สีเหลืองแพงที่สุดของรุ่นนั้น ตอนนี้อยู่ประมาณสองสามหมื่นบาทแล้ว Converse Chuck Taylor ธรรมดาด้วยนะ ไม่นับ Converse Jack Purcell ซึ่งมันมีอีกหลายแบรนด์เลยที่ทำรองเท้าสีมัสตาร์ดแล้วแพงมาก คู่ละเป็นหมื่นหมด เพราะฉะนั้นคุณมาซื้อกับเราดีกว่า เราขายราคาเดิม ล็อตนี้บอกเลยว่า 2,950 เหมือนเดิม แล้วเปลี่ยน Material ใหม่หมดเลย เปลี่ยนทรง เปลี่ยนโฉม เปลี่ยนไซส์ใหม่หมดเลย

หน้าร้านของตัวเองยังไม่เกิดขึ้นตอนนี้ 

เงินผมหายไปเยอะมากกับการฝากหน้าร้าน จนมีความรู้สึกว่าอยากจะขายเองแล้ว แต่ผมก็ได้ไปปรึกษาพี่กระชาย (กระชาย Death of a salesman) เขาก็แนะนำกลยุทธ์ให้แบรนด์เราว่า มองอนาคตดีกว่า การสร้างแบรนด์มันต้องมีเงินที่จ่ายอยู่แล้ว เราขายกับ Carnival, Onion เขาก็โปรโมตให้เรา ตรงนี้เราก็ไม่ได้จ่าย ซึ่งตอนนี้เราควรจะหาพันธมิตรเพิ่มมากกว่าการไปเปิดหน้าร้านขายตอนนี้ อีกอย่างแผนปีนี้เราจบไปแล้ว จะมีรองเท้าล็อตกลางปี แล้วก็ปลายปีที่เปลี่ยนโฉมไปเลย ลูกค้าจะรู้สึกว่าเราจะไม่อยู่กับที่แน่นอน ซึ่งจะผลิตออกมาไม่เยอะด้วย ส่วนปีหน้าจะมีการเปลี่ยนรูปแบบอีกครั้งนึง พูดง่าย ๆ คือ Rompboy จะเข้าห้างแล้ว แต่จะเป็นในลักษณะไหนต้องรอติดตาม

ความสำคัญของ Slur กับ Rompboy

บอกเลยว่าตอนนี้เปอร์เซ็นต์ความสำคัญของทั้งสองสิ่งมันอยู่ที่ 51 กับ 49 นะ เพราะเรามองว่า Rompboy มันเป็นงานหลักไปแล้วโดยที่เราไม่ตั้งตัว เราจำได้เลยที่พี่สาวถาม ตอนนั้นเขาซื้อเบอร์โทรศัพท์ใหม่ให้คนบ้านทุกคน แล้วเขาถามว่า บู้จะเป็นอาชีพอะไร แล้วเราก็ลังเลว่าจะเป็นนักดนตรีหรือจะเป็นพ่อค้าดี เราจำได้ว่าเดือนนึงรายได้ของ Slur มันไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ Rompboy มันให้อะไรกับเราเยอะมาก ก็เลยตอบพี่สาวไปว่า เป็นพ่อค้า หลังจากวันนั้นก็รู้เลยว่าสัดส่วนมันเป็น 51/49 แล้ว อันนี้มันเลี้ยงดูที่บ้านได้ มันเลี้ยงอาม่าอาแปะ ผมต่อยอดจากสิ่งที่ผมคิดได้เยอะมาก แล้วมันมาไกลกว่าที่คิดแล้ว แต่ว่า Slur เรายังเต็มที่กับมันเหมือนเดิม มันยังให้พลังใจเวลาเราขึ้นไปบนเวที ช่วงก่อนที่ทำ Rompboy คือ ดนตรี 100% เพราะอย่างพี่เอม Slur เขาทำงานประจำมาตั้งนาน พี่เย่ ก็ทำงานโปรดักชันเพลง แล้วเมื่อก่อนพี่เป้ก็เป็นดาราด้วย เฮาส์ เข้ามาก็ทำธุรกิจ ซึ่งทุกคนอาจจะเป็น 51% มาตั้งนานแล้ว แต่เรา 100 มาตลอด เราเลยรู้สึกว่าทุกอย่างมันคือ Slur ถ้าเราดีก็มีคนจ้างงานเราต่อ ตอนนั้นก็คิดแบบศิลปิน เราจะมีเงินเลี้ยงชีพด้วยการเป็นศิลปินอย่างเดียว หรือเป็นพิธีกร ไปอีเวนต์ ถ่ายงาน ถ่ายแบบบ้าง ทุก ๆ อย่างมันเหมือนจุดธูปไหว้พระ ขอให้เดือนนี้งานเยอะ ศิลปินมันเป็นแบบนั้นจริง ๆ เราว่าทุกวงตอนนี้ ถึงจะเป็นนักดนตรีอาชีพก็ยังต้องลุ้นอยู่ว่าเดือนนี้งานน้อยหรือเปล่า นี่ไม่นับวงที่ขึ้นหิ้งติดลมบนไปแล้วนะ แต่การทำธุรกิจมันควบคุมได้ เราทำเราก็ได้ เราไม่ทำก็ไม่ได้ เรารู้ไทม์ไลน์ของเราว่ามันจะจบตรงไหน

Rompboy ขายของดี ราคาตามคุณภาพของวัตถุดิบที่สำคัญทุกชิ้นลิมิเต็ด

ผมขายถูกไม่ได้ เอาง่าย ๆ เลย ถ้าผมขายถูก สินค้าจะไม่สามารถสกรีนคนได้ ถ้าคน 40,000 คนที่ฟอลโล่ผมเขาซื้อได้หมด เขาก็ทะเลาะกันตายสิ ผมเลือกวางทุกอย่างตามหลักธุรกิจคือ ถ้าของคุณดีจริง ๆ ลิมิเต็ดจริง ๆ คุณห้ามขายถูกมาก แต่พูดจริง ๆ นะ กำไรบางตัวน้อยมาก แต่ว่ามันเป็นเรื่องของคุณค่า ร้านผมการันตีแน่นอน คุณใส่แล้วคุณไม่ซ้ำใคร คนอื่นจะทำตามยังไงก็ช่าง ร้านผมหนีตลอด  ผมเป็นคนจริงจังกับการซื้อเสื้อผ้ามาก แล้วก็บ้าซื้อหนังสือแฟชั่นมาอัพเดตตลอดเวลา เลยรู้สึกว่า Rompboy มันได้ใส่ความรู้ของเราไปด้วย แล้วผมว่าเสื้อผ้าผมราคาไม่แพงถ้าเทียบกับแบรนด์ญี่ปุ่น

6

เถ้าแก่น้อยบู้ในอีก 10 ปีข้างหน้า

ผมไม่ได้มองแบบ 10 ปีนะ มีหมอดูซินแสทักว่า อายุ 34 ปีนั้นผมจะพีค ผมเลยมองแค่นั้นพอ อีกแค่สามปีเองเอาให้สุด ผมเริ่มมองเป้าออกแล้วว่าเป็นยังไง แต่อีก 10 ปีข้างหน้า คิดว่าจะไม่ทำงานแล้ว ตอนนั้นก็อายุ 40 อาจจะเล่นดนตรีอย่างเดียวหรือไปทำเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ทำระบบแล้วให้พี่สาวหรือใครดูแล ช่วงเวลา 10 ปีนี้เป็นช่วงเวลาที่เราคิดว่าทำได้ ที่จะเก็บเงินให้เยอะที่สุด คนอื่นอาจจะทำงานถึงอายุ 50 แต่สำหรับเราอายุ 40 แล้วขอเที่ยวดีกว่าพาลูกเที่ยวด้วย

บู้เป็นแฟนพันธุ์แท้รายการ SME ตีแตกกับอายุน้อยร้อยล้าน

ผมขี้เกียจอ่านหนังสือ ชอบดู ชอบฟังมากกว่า ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้รายการ SME ตีแตกกับอายุน้อยร้อยล้านนะ บางทีก็ชอบคุยกับคนเก่ง ๆ ด้านนี้ อย่างคุยกับพี่กระชาย ซึ่งเป็นคนวางกลยุทธ์แบรนด์เป็นต้น ชอบคุยกับเจ้าของธุรกิจ คุยกับเพื่อนที่ประสบความสำเร็จอะไรทำนองนี้ คนที่รวยเขาจะมีมุมมองที่แตกต่างจริงๆ แล้วอีกอย่างคือ คนที่รวยจะมีน้ำใจ คือทำอะไรเพื่อวงการ ไม่ใช่เพื่อเงินอย่างเดียว เรารู้สึกว่าคน ๆ นั้นต้องการจะเปลี่ยนแปลงหรือให้อะไรใหม่ ๆ กับวงการที่ตัวเองทำอยู่จริง ๆ

ความจริงที่ต้องยอมรับ ปัจจุบันนักดนตรีเริ่มหันเข้าสู่วงการธุรกิจ

ผมจะเป็นคนแบบนี้ครับ ถ้าคนที่ไม่เอาหรือไม่จริงจังในเรื่องนี้ ผมก็ไม่คุยนะ เพราะรู้ว่าเขายังไม่พร้อม หรือคนที่ศิลป์มาก ๆ เราก็จะไม่คุย แต่ว่าถ้าเป็นคนที่เข้ามาปรึกษา อย่างเพื่อนในวงการนักดนตรี หลายคนเข้ามาคุยกับผมนะ มีบางคนอยู่ในวงดัง ๆ เลยเขาก็เข้ามาปรึกษา เขาบอกว่าเงินตรงนี้มันไม่พอ ในชีวิตจริงเขาต้องเลี้ยงคนรอบตัว เลยอยากทำธุรกิจควบคู่ไปด้วย ผมก็ให้คำแนะนำครับ แจ๊ป The Richman toys เขาเคยพูดประโยคนึงได้ดีมากเลยพูดไว้ว่า “เดี๋ยวนี้แปลกเนอะ แทนที่จะเจอนักดนตรีแถวเวิ้งนาครเขษม แต่ไปเจอตามพาหุรัด” คือ มันก็สะท้อนถึงวงการเพลงนะ ถ้ามันอยู่ได้จริง มันยังขายซีดีได้ หรือโชว์ยังมีคนไปซัพพอร์ต ถ้าระบบนี้มันเป็นรูปธรรมจริง คนพวกนี้ไม่มาอยู่ตามพาหุรัดหรอก

ในฐานะที่เราเข้าวงการธุรกิจมาก่อน มีอะไรที่จะบอกนักดนตรีที่จะตามเข้ามาในวงการนี้บ้าง

ผมบอกเลยว่า จริงๆ แล้ว การโปรโมตซิงเกิลหรือการทำอัลบั้ม มันคือ การทำธุรกิจ ถ้าคุณคลุกคลีจริง ๆ ไม่ได้เป็นบอยแบนด์ มีคนมาคอยปั้นแต่งให้คุณ คุณจะรู้เลยว่ามันเป็นวิธีการเดียวกัน ถ้าคุณเลือกใช้ศาสตร์แห่งการโปรโมตศิลปินหรือวิธีครีเอทีฟต่าง ๆ พวกนี้มันเอามาประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจได้ ยังไงธุรกิจมันก็รุ่ง จนคุณอาจจะรวยจนเลิกทำเพลงไปเลยก็ได้

เวลามีคนมาคุยเรื่องธุรกิจ รู้สึกเขินบ้างรึเปล่า 

ไม่เขินครับ โคตรมันเลย แทบจะพ่นไฟได้ เรารู้สึกว่ามันก็เหมือนการทำอัลบั้ม ทำ Side Projectมันมีช่วงนึงที่ถามตัวเองว่า เพลง เซโรงัง ที่มันดัง มันเป็นเพราะเราจริง ๆ หรือเปล่าวะ มันมาจากเพื่อนเรา หรือมันมาจากทั้งสี่คนรวมกัน ซึ่งมันไม่ใช่เรา 100% หรอก แต่การที่เราโดดออกมาทำโปรเจกต์ของตัวเอง อันนี้มันมาจากเราจริง ๆ ผมว่ามันก็เหมือนกับนักดนตรีแหละ ลองทำ Side Project กันดีกว่า จะเป็นเพลงก็ได้ หรืออาจจะทำฟาร์มออร์แกนิก อย่างเพื่อนผมไปปลูกเมลอนแล้วรวยก็มี คือทำไปเถอะ ทำอะไรที่มันเป็น Side Project แล้วมันมาจากเราจริง ๆ สำหรับผมคิดว่าธุรกิจไม่ว่าจะเริ่มมากเริ่มน้อย ก็ไม่ควรมีหุ้น ถ้าคุณทำแล้วบริหารจัดการได้ก็ทำไปเถอะ แต่ขอให้เริ่ม ยังไงก็มีแต่ได้กับได้ ไม่มีเจ๊งหรอก

ปิดท้ายบทสัมภาษณ์ด้วยการขายของแบบพ่อค้าหน่อย

สามารถติดตามสินค้าใหม่ของผมได้ที่ www.facebook.com/rompboybkk
IG : Rompboy LINE : @rompboybkk

Facebook Comments

Next:


Gandit Panthong

กันดิศ ป้านทอง อดีตนักศึกษาฝึกงานนิตยสาร Hamburger Magazine, ทำงานในกองบรรณาธิการ MiX Magazine และ บก.คนแรกของ Fungjaizine ที่มีความมุ่งมั่นว่าจะตั้งใจสร้างสรรค์วงการเพลงให้เกิดแต่สิ่งดี ๆ ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง