Walrus
ว. รัส
2014 Sue (Single)
จำนวน 1 เพลง
ซื้อ
Walrus
Spicy Disc
ประวัติศิลปิน

WALRUS (ว.รัส) เป็นวงดนตรีที่ถือกำเนิดขึ้นมาตอนกรุงเทพน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ประกอบไปด้วย ต้น-วิทวัส จันทร์แพทย์รักษ์ (ร้องนำ กีต้าร์), เม-เมธี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา (กีตาร์), โย-ภาคี นาวี(เบส), แชมป์-ปิยะวิทย์ ขันธศิร (ไวโอลิน), เตี้ย-ฐากูร อัศวพิศิษฐ์ (ทรอมโบน), เจ็ง-วัชระ อัจฉริยวรานนท์ (ทรัมเป็ต), บั๊ม-ธีรพจน์ ผลิตากุล (คีย์บอร์ด) และหม่อม-อัครพล อกนิษฐานนท์ (กลอง) เริ่มต้นมาจาก ต้น, เม, โย, และแชมป์ อดีตสมาชิกวง Teddy Ska Band ใครที่เคยไปบริคบาร์ ถนนข้าวสารก็น่าคุ้นเคยกับพวกเขาเป็นอย่างดี 4 หนุ่มแยกตัวออกมาเล่นดนตรีกลางคืนกันด้วยสมาชิกเพียง 4 คนเท่านั้น แต่ด้วยความรู้สึกของคนที่เคยเล่นดนตรีเต็มแบนด์มาก่อน ก็เกิดความรู้สึกขาดๆ หายๆ โหลงเหลงอย่างบอกไม่ถูก จึงพูดคุยกันในวงว่า “ใครมีเพื่อนก็ชวนมาเล่นด้วยกันเลย” หม่อม มือกลองอาชีพก็เข้าร่วมวงมาอย่างงงๆ จากการชักชวนของ 4 หนุ่ม หลังจากที่มีงานประจำที่ได้รับค่าตอบแทนเยอะพอตัว ส่วนแชมป์ก็ชวนเตี้ย เพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยมารับตำแหน่งทรอมโบน และเตี้ยก็ชวนมือปรัมเป็ตอย่างเจ็งเข้าร่วมวงอีกต่อหนึ่ง ส่วน บั้ม สมาชิกคนสุดท้ายที่ทุกคนลงความเห็นว่าเขาวัยรุ่นที่สุด แม้จะมีความอาวุโส ผู้ที่เป็นทั้งรุ่นพี่ของโยที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ และเป็นทั้งอาจารย์ของเจ็งอีกด้วย นี่จึงเป็นเรื่องราวการถือกำเนิดของวอรัสในเมืองไทย ที่เป็นการประกอบร่างรวมตัวของ ’นักดนตรี’ ที่มีจิตวิญญาณของนักดนตรีอย่างแท้จริง นั่นก็คือ ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขาอย่างแยกออกจากกันไม่ขาด และถึงแม้จะมีคนฟัง 10 คน หรือ 10,000 คน พวกเขาก็ไม่รีรอที่จะมอบความสนุก ในลีลาการแสดงสดที่ดิบบ้าง เพี้ยนบ้าง ภายใต้เนื้อเพลงที่หยิบจับแง่มุมดาร์กๆ ที่มีอยู่ในสังคมแต่ไม่มีใครพูดถึง มานำเสนอในสำเนียงติดตลก อารมณ์ดี ที่ผ่านการคิด กรั่นกรองมาแล้ว ผสานกับภาคดนตรี 8 ชิ้นที่แหกกฎทฤษฏีดนตรีถึงแม้ว่าพวกเขาเกือบทุกคนจะเรียนจบด้านดนตรีมาโดยตรงก็เถอะ สนุก เพี้ยน มัน แต่มีความคิด Homeless เพลงแรกที่พวกเขาทำเพื่อล้างหูผู้ฟังว่า วอรัสก็ทำเพลงอะคูสติกฟังง่ายเพราะซึ้งก็ได้เหมือนกัน เมื่อมาอยู่ในค่าย Spicy Disc พวกเขาทำเพลงแฮปปี้มิวสิกที่สร้างความสดชื่นให้คนฟังได้เป็นอย่างดีกับเพลง ว.รัส (Walrus) ก่อนจะคัฟเวอร์เพลง เฝ้ารอเฝ้าคอย ของศิลปินร่วมค่ายก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ ที่เป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่าพวกเขาก็ยังเล่นเพลงเร้กเก้ได้อยู่ และซิงเกิลล่าสุดที่น่าจะสะท้อนความตลกร้ายของสิงโตทะเลตัวนี้ได้ดีที่สุดก็คือ ซื้อ เพลง ROCKABILLY ผสมผสานความเป็น SKA ที่ออกมาเป็น SKABILLY ดนตรีรูปแบบใหม่จาก 8 หนุ่ม ที่หยิบยกเรื่อง ‘เงิน’ ที่เป็นปัจจัยในการใช้ชีวิตในสายตาคนทั่วไปมาพูดถึง ตามที่คำพูดชินหูที่ว่า ‘เงินซื้อได้ทุกอย่าง’ แต่พวกเขาอยากเสริมว่า “เงินซื้อได้ทุกอย่างก็จริง แต่ไม่สามารถซื้อได้ทั้งหมด มันซื้อได้แค่บางส่วนเท่านั้นซึ่งก็เป็นส่วนใหญ่นั่นแหละ” 4 เพลงของพวกเขาที่ปล่อยออกมาให้คนฟังได้รู้จักตัวตน อาจจะสร้างความสับสนให้กับผู้ฟังได้ เพราะเพลงทั้งหมดออกรูปไปคนละทิศ คนละทาง คนละแนวเพลง ซึ่งนั่นก็สื่อความหมายเป็นนัยๆ ว่า เราไม่ต้องไปหาคำจำกัดความแนวดนตรีของ ว.รัส หรอก “ดนตรีในโลกมีหลากหลายรูปแบบ ว.รัส ที่มีสมาชิก 8 คน ก็พยายามจะนำดนตรีทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเราชอบมาใส่ไว้ในความเป็นว.รัสที่ สนุก เพี้ยน มัน แต่สุดท้ายผู้ฟังก็ต้องได้อะไรจากการฟังเพลงว.รัสเหมือนกัน เรามีหน้าที่เล่นดนตรี ส่วนแต่คำเรียก คำจำกัดความต่างๆ ปล่อยให้คนฟังเป็นคนเรียกดีกว่า” ต้นนักร้องนำเขายืนกรานทิศทางเพลงของเขาไว้อย่างนี้ ว.รัสในโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน เนื่องจากวอลรัสหรือสิงโตทะเลเป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตอยู่กับน้ำแข็ง แล้วในวันนี้ วันที่โลกร้อนขึ้น น้ำแข็งก็ละลายลงไปทุกวัน วอลรัสจึงอยู่ยากขึ้น เพราะพื้นที่อาศัยหายไปทุกวี่ทุกวัน วงว.รัสก็ไม่ต่างไปจากเจ้าวอลรัส เพราะโลกในวันนี้ผู้ฟังมีทางเลือกในการฟังเพลงเยอะขึ้น คนอาจะได้ฟังแบนด์ที่เล่นสดน้อยลง มีสิ่งที่สะดวกในการเสพในยุคปัจจุบันมากขึ้น ฟังเพลงดีเจมากขึ้น ฟังดนตรีสังเคราะห์ แต่ว.รัสตัวนี้ก็ยังคงเอกลักษณ์ของวงที่เป็นเครื่องดนตรีที่เล่นกันสดๆ ยังเป็นวงที่มีที่อยู่ที่ยืนของตัวเองอยู่ ฉะนั้น ถ้ามีคนฟังเพลง ว.รัส ก็ยังจะอยู่ตลอดไป ถ้าโลกไม่แตกไปซะก่อน “ว.รัส ไม่สามารถเดินไปขายเหมือนซาลาเปาได้ แต่ว.รัสสามารถเปิดร้านให้คนเข้ามาเอ็นจอยกับอาหารของเราได้ มันอาจจะเป็นอาหารที่กินยาก หรืออาจจะเป็นแค่ที่ที่หนึ่งที่คนแวะมา ซึ่งแค่นั้นพวกเราก็มีความสุขแล้ว “พวกเราไม่ได้ทำเพลงที่เป็นกระแส แต่พวกเราทำเพลงที่ถ้าอีก 10 ปีข้างหน้าย้อนกลับมาฟังแล้วตัวพวกเราเองก็ยังแฮปปี้ ถึงแม้ว่าเนื้อหาจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่นั่นแหละคือไดอารี่ที่ทำให้พวกเรารู้ว่า ยุคนี้ พ.ศ.นี้ เราทำอะไรกันอยู่ และนี่คือไดอารี่ของว.รัส” แล้วพวกคุณพร้อมจะอ่านไดอารี่ของเครือญาติทางดนตรี พร้อมที่จะเสพความจริงทางสังคม พร้อมที่จะสนุกไปกับการเสียดสี พร้อมจะเปิดรับศิลปะทางดนตรีที่ส่งผ่านจากจิตวิญญาณของ ว.รัสจอมตลกร้ายแต่ใจดีวงนี้แล้วหรือยัง? สมาชิก WALRUS (ว.รัส) วิทวัส จันทร์แพทย์รักษ์ (ต้น) ตำแหน่ง : ร้องนำ, กีต้าร์ นักร้องหนุ่มร่างใหญ่ ที่ฝากเสียงร้องไว้กับวง Teddy Ska Band ก่อนแยกตัวออกมาทำว.รัส ชายหนุ่มที่ถ้าใครได้ดูเขาแสดงสดจะติดใจความสนุกจนอยากจะโยก ดิ้น โดด ไปตามจังหวะของเพลง เมธี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา (เม) ตำแหน่ง : กีตาร์ ทหารหนุ่มจากแผนกดุริยางค์ กองบริการ สำนักงานสนับสนุนสำนักงานปลัด กระทรวงกลาโหม ที่หลังจากเลิกงานเขาพร้อมจะจัดเต็มกับการสร้างสรรค์โน๊ตดนตรีกีตาร์ ที่พร้อมจะฉีกกฎเกณฑ์ที่เขาได้เรียนมาในลีลาอันเร้าใจ ภาคี นาวี (โย) ตำแหน่ง : เบส มือเบสที่มาพร้อมกับรอยสัก รอยเจาะ อยู่ทั่วตัว ทั่วหน้า นำมาซึ่ง ความโหดที่หลายคนเข้าใจผิด หลังจากที่มองภายนอกฃ ที่จริงโยใจดีไม่แพ้เพลงของเขา นอกจากนั้นโยยังเป็นนักสะสมของเก่าตัวยง ใครที่มองหาของเก่า ไม่ว่าเป็นของเล่นหายาก หรือเครื่องใช้เก่ากรุทรงคลาสสิกที่หาที่ไหนไม่ได้แล้ว บางทีคุณอาจจะหาได้ในบ้านของเขาคนนี้ก็ได้ ปิยะวิทย์ ขันธศิร (แชมป์) ตำแหน่ง : ไวโอลิน หนุ่มเนื้อหอมประจำวง เห็นแชมป์เมื่อไหร่ ต้องเห็นไวโอลินที่นั่น ถึงแม้ว่าแนวเพลงของว.รัส จะมีความหลายหลาย แต่เขาคลั่งไคล้และหลงใหลในดนตรีคลาสสิกแบบสุดๆ ชนิดที่โดนแซวจากพี่ๆ ร่วมวงว่าตอนแชมป์มาเล่นกับวงใหม่ๆ ยังติดลีลาการสีไวโอลินตอนจบเพลงเป็นแบบคลาสสิก ที่สร้างความยิ่งใหญ่อลังการให้กับ ว.รัสอยู่เลย ฐากูร อัศวพิศิษฐ์ (เตี้ย) ตำแหน่ง : ทรอมโบน เพื่อนซี้ร่วมชั้นเรียนดนตรีของแชมป์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มาพร้อมกับทรอมโบน เครื่องเป่ารู้ใจ เขาคนนี้ก็หลงใหลในดนตรีคลาสสิกไม่แพ้เพื่อนของเขา เล่นเพลงคลาสสิกจริงจังถึงขนาดได้เข้าร่วมวง BSO (Bangkok Symphony Orchestra) และว.รัสก็เป็นการเป่าทรัมเป็ตอีกรูปแบบหนึ่งที่เขากำลังสนุกอยู่ วัชระ อัจฉริยวรานนท์ (เจ็ง) ตำแหน่ง : ทรัมเป็ต สมาชิกที่เด็กที่สุดในวง ลูกศิษย์อาจารย์บั๊ม มือคีย์บอร์คที่ความสามารถในการเป่าทรัมเป็ตของเขา ดึงดูดให้ ว.รัส ชวนให้มาเล่นดนตรีด้วยกัน เขาเป็นสมาชิกเพียงคนเดียวของวงที่ไม่มีงานอดิเรกอื่น นอกเหนือไปจากการเล่นดนตรี ก่อนหน้าจะมาร่วมวงกับพี่ๆ เขาเคยเป็นอดีตสมาชิกของวง H.R.U. (หรู) วงดนตรีจากเชียงใหม่อีกด้วย ธีรพจน์ ผลิตากุล (บั๊ม) ตำแหน่ง : คีย์บอร์ด อาจารย์สอนดนตรีที่มหิดล ที่เบื่อกรอบ เบื่อกฎเกณฑ์ สมาชิกที่อาวุโสที่สุดในวงที่อยากเล่นดนตรีกับน้องๆ นักสะสมเครื่องดนตรีของแต่ละประเทศ โดยหวังว่าในอนาคตจะเปิดผับในคอนเซ็ปต์ เวิลด์มิวสิค มีรวบรวมเครื่องดนตรีของแต่ละประเทศไว้ที่ร้านของเขา อัครพล อกนิษฐานนท์ (หม่อม) ตำแหน่ง : กลอง มือกลองอาชีพที่เคยตีให้กับศิลปินชื่อดังหลายวง ทั้งค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ ผู้ที่เลือกมาตีกลองสนองความต้องการตัวเอง แทนที่จะรับเงินเดือนจากการตีกลองในโรงแรมที่มีชื่อเสียง อีกมุมหนึ่งหม่อมเป็นนักชิม นักแสวงหาร้านอร่อยที่ยังไม่มีใครค้นพบ ฉะนั้นเรื่องอาหารการกิน ถามหม่อมล่ะไม่มีผิดหวัง